ร้านนั่งดื่ม

20 คำศัพท์ที่คอ(คราฟท์)เบียร์ควรรู้

67,071 views |

ใครที่เริ่มดื่มคราฟท์เบียร์มาซักพัก ก็คงเริ่มจะศึกษาเกี่ยวกับเบียร์ชนิดต่างๆ มากยิ่งขึ้น อาจจะเจอคำศัพท์ที่ไม่คุ้นหูมากยิ่งขึ้น พอดีผมไปเจอบทความรวบรวม 20 คำศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับคราฟท์เบียร์มา

ก็เลย(แอบ)แปลและเรียบเรียงเอาไว้ เผื่อเพื่อนๆ ไปอ่านเจอคำไหนบนฉลากหรือดูรีวิวจาก YouTube จะได้เข้าใจว่าคืออะไรครับ หวังว่าน่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ

Macro Lager
Lager คือเบียร์ชนิดที่เราคุ้นเคยดื่มกินกันมานาน น้ำเบียร์เหลืองใส รสชาติไม่ซับซ้อนจึงเป็นเบียร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดหนึ่ง แต่ความหมายของ ‘Macro Lager’ คำนี้ออกจะเป็นแง่ลบหน่อย หมายถึงพวกเบียร์ที่ผลิตโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ เช่น Anheuser Busch InBev หรือ SABMiller ถ้าเป็นบ้านเราก็คือ … และ … นั่นเอง

Dry Hopped
ฮอปส์เป็น 1 ใน4 ส่วนผสมหลักในการทำเบียร์ (น้ำ,มอลต์,ฮอปส์และยีสต์) ปกติการใส่ฮอปส์จะใส่ระหว่างต้มเบียร์ ก่อนการหมัก (fermentation) ‘Dry Hopped’ จึงถือว่าเป็นวิธีการพิเศษ ขั้นตอนก็คือใส่ฮอปส์ลงไปหลังจากที่ทำการหมักเบียร์เสร็จแล้ว อาจจะประมาณ 7-10 วันหลังจากใส่ยีสต์ ประโยชน์ของการดรายฮอปส์ก็คือการเพิ่มกลิ่นและรสให้ชัดเจนขึ้น(แต่ไม่เพิ่มความขม)

Bottle Conditioning
ความซ่าในน้ำเบียร์ของเบียร์เจ้าใหญ่ๆ ในปัจจุบันนั้นจะต้มเบียร์ให้เข้มข้นแล้วผสมน้ำโซดาก่อนจะบรรจุ ส่วนการ Bottle Conditioning เป็นวิธีที่นิยมในการทำคราฟท์เบียร์เพราะเป็นธรรมชาติมากกว่า ขั้นตอนก็คือใส่น้ำตาลลงไปเพิ่มก่อนกรอกใส่ขวด พอยีสต์กินน้ำตาลแล้วคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาก็จะทำให้เบียร์ซ่านั่นเอง โดยยีสต์ก็จะตกอยู่ที่ก้นขวด

Commune246_90

IBU
ย่อมาจาก International Bittering Units เป็นหน่วยเอาไว้วัดความขมของเบียร์ ซึ่งส่วนมากจะเกิดจากฮอปส์ โดยจะมีการระบุเอาไว้ที่ขวด ทำให้เรารู้ว่าความขมประมาณไหน ถ้า 10 หรือต่ำกว่า แสดงว่าไม่ค่อยขม พวก pale ale จะไม่เกิน 40 ถ้า 50 ขึ้นไปนี่ขมแน่นอน เช่นพวกเบียร์  IPA

Adjunct
ธัญพืชชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่บาร์เลย์ ตัวอย่างเช่น ข้าวโพด หรือข้าว ใส่เข้ามาในเบียร์เพื่อลดต้นทุน โดยมากจะใส่ในเบียร์ลาเกอร์เจ้าใหญ่ๆ แต่ในเบียร์บางสไตล์อาจมีการใส่ข้าวสาลีหรือข้าวโอ๊ตซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคาแรคเตอร์และรสชาติ เช่น วีทเบียร์หรือสเตาท์

SwanLakeMenu_08

Malty
คำอธิบายเบียร์ที่มีรสชาติและคาแรคเตอร์ของมอลต์ชัดเจนหรือโดดเด่นกว่ารสอื่น อาจจะลงลึกไปอีกว่าเป็นรสแบบบิสกิต รสขนมปัง คาราเมล ขนมปังปิ้ง ชอคโกแลต และอื่นๆ

Noble Hops
ฮอปส์มีหลากชนิดหลายสายพันธุ์ แต่ถ้าพูดถึง Noble Hops จะหมายถึง 4 สายพันธุ์ที่ปลูกในเยอรมันและสาธารณรัฐเช็ก ก็คือ Saaz, Hallertau, Spalt และ Tettnang โดยส่วนใหญ่จะใส่ในเบียร์ลาเกอร์สไตล์ยุโรป

Esters
กลิ่นและรสที่มักพบในเบียร์ Ale เพราะว่า Ale หมักในอุณหภูมิสูง (ประมาณ 20 องศาเซลเซียส) ซึ่งเหมาะสมกับการเกิด ester ส่วนใหญ่จะระบุให้เข้าใจง่ายๆด้วยคำว่า ‘fruity’ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับชนิดยีสต์และอุณหภูมิที่ใช้หมักด้วย

Piney
มักจะระบุอยู่ในคำอธิบายของเบียร์ IPA (India Pale Ale) ที่มีรสขมโดดเด่นรวมถึงมีคาแรคเตอร์ของต้นสน (Pine) รสและกลิ่นนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ฮอปส์ที่เลือกใช้ด้วย

Gravity
หน่วยวัดที่ Brewer(คนต้มเบียร์) ใช้วัดความหนาแน่นของสารละลายในน้ำเบียร์ก่อนและหลังการหมัก (fermentation) เพื่อสามารถคำนวณแอลกอฮอล์ (ABV) ได้ วิธีการก็คือวัดตอนที่ต้มเบียร์เสร็จแล้ววัดหลังจากการหมักจากนั้นก็เอาค่าทั้งสองมาลบกันก็จะได้ปริมาณแอลกอฮอล์ ABV (Alcohol By Volume)

HatosBar_016

Imperial/Double
เป็นสไตล์เบียร์ โดยมากใช้กับ Stout หรือ IPA (Double IPA , Imperial Stout) ที่มีแอลกอฮอล์และรสชาติที่รุนแรง เข้มข้นขึ้น ซึ่งก็มาจากการเพิ่มปริมาณ ฮอปส์และมอลต์

Single Hopped
คำนี้ก็ตรงตัวเลยครับ ก็คือเบียร์ที่ใช้ฮอปส์ชนิดเดียว (เช่น Cascade, Fuggle, Chinook) จุดประสงค์ก็คือเพื่อโชว์คาแรคเตอร์ กลิ่น และรสชาติของฮอปส์ชนิดนั้นๆ

Brettanomyces
เบียร์ส่วนใหญ่จะหมักด้วยยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ส่วน Brettanomyces หรือที่รู้จักในชื่อ Brett เป็น wild yeast ที่ลอยอยู่ในอากาศซึ่งจะมีส่วนในการหมักแบบธรรมชาติ ยีสต์แบบนี้จะสร้างรสเปรี้ยว รสดิน รสเครื่องเทศ เช่นเดียวกันกับรสอื่นๆของเบียร์ ที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบไอ้รสดังกล่าวที่ว่ามา

Clean
คลีนในที่นี่หมายถึงเบียร์ที่ไม่มีรสชาติหรือ texture ไม่ซับซ้อนมากนัก ไม่ได้หมายความเบียร์นั้นจืด ไม่มีรสชาติ ตัวอย่างที่ง่ายๆก็คือลาเกอร์นับเป็นเบียร์ clean ชนิดหนึ่ง

SwanLake_002

Session Beer
เบียร์แอลกอฮอล์ต่ำ โดยทั่วไปคือ 3-4% ABV ทำให้ดื่มสะดวก ไม่เมาเละเทะ ตัวอย่างเช่น Session IPA ที่จะมีรสและแอลกอฮอล์เบากว่า IPA ธรรมดา ทำให้ดืมลื่นคอมากขึ้น

Skunked
กลิ่นและรสอันไม่พึงประสงค์ที่อยู่ในเบียร์ เกิดจากการที่เบียร์โดน UV ในแสงแดด ทำให้ส่วนประกอบในน้ำเบียร์มีกลิ่นและรสไม่ดี ฟังกี้ๆ ออกมา เป็นเหตุผลว่าทำไมขวดเบียร์ส่วนใหญ่ถึงเป็นสีน้ำตาล

Fresh Hopped/Wet Hopped
โดยปกติแล้วดอกฮอปส์ที่เก็บเกี่ยวมาจากต้นนั้นจะถูกอบแห้งภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนจะนำไปใส่ในเบียร์ แต่ fresh hopped ก็คือการนำไปใส่ในเบียร์เลย ทำให้มีรสและกลิ่นที่ชัดกว่า ซึ่งก็ขั้นตอนดังกล่าวก็ยุ่งยากขึ้น ทำให้เบียร์ตัวนั้นๆ อาจจะมีราคาแพงและหาดื่มได้ยากขึ้นไปเช่นกัน

SwanLake_007

Yeasty
ใช้เหมือนกับ malty ครับ ก็คือไว้อธิบายเบียร์ตัวที่มีรส กลิ่น ของยีสต์โดดเด่นขึ้นมา พวกวีทเบียร์ หรือเบียร์จากเบลเยียม หลายๆ ตัวจะมีคาแรคเตอร์ประมาณนี้

Cask Beer
เบียร์สดที่เราทานกันนั้นจะบรรจุลงใส่ถังโลหะที่เรียกว่า Keg ครับ ซึ่งก็จะผ่านขั้นตอนการกรอง, ทำให้ซ่า (carbonated), พาสเจอร์ไรซ์ เวลาจะเสิร์ฟก็จะดันออกมาด้วย CO2 หรือ ไนโตรเจน ส่วน ‘Cask Beer’ จะเป็นแบบโบราณดั้งเดิมหรือที่เรียกกันว่า Real Ale ก็คือจะไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ไม่กรอง ส่วนการ cabonate นั้นใส่ยีสต์ลงไปเพิ่มอีกเล็กน้อยในถังไม้ เวลาเสิร์ฟก็ปั๊มด้วยมือออกมา ไม่ได้ใช้ CO2 โดยเสิร์ฟในอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ เพื่อให้รสชาติชัดเจนเพิ่มขึ้น

Phenols
เหมือนกับ esters ระหว่างขั้นตอนการหมักอาจเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือสารเคมีในน้ำ Phenol อาจจะมีรสเหมือนยาหรือเหม็นแปลกๆ หรือสกอตช์วิสกี้ที่กลิ่นแบบพลาสติกหรือพลาสเตอร์ยา แต่กลิ่นนี้ไม่ได้เป็นกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์เสียทีเดียว เบียร์อย่าง Hefeweizen ก็มีกลิ่นกานพูลที่เกิดจาก Phenols เช่นเคยคือมีทั้งคนชอบและไม่ชอบไอ้รสแบบนี้

แปละและเรียบเรียงจาก foodandwine.com

You Might Also Like


แสดงความคิดเห็น



WP Twitter Auto Publish Powered By : XYZScripts.com