Craft Beer

Cantillon ทัวร์และชิมโรงเบียร์เปรี้ยว Lambic ชื่อดังของโรงที่เมืองบรัสเซลส์ – ประเทศเบลเยี่ยม

515 views |

วันที่ 6 ของทริป Road to Belgium กับชาวคณะ Captain Barrel นั้นช่วงเช้าปล่อยตามสบายครับ ใครอยากไปไหนก็ได้ แต่ให้มาเจอกันที่ร้านอาหารตอนเที่ยง สำหรับคนที่ยังไม่หนำใจกับการจิบเบียร์ ก็ได้นัดรวมตัวตั้งแต่เช้าไปยังโรง Lambic ชื่อดังของโลกที่มีชื่อว่า ‘Cantillon’

Cantillon (กองติญง) เป็นโรงเบียร์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1900 โดย Paul Cantillon และ Marie Troch ภรรยา ในช่วงแรกนั้นทางโรงยังไม่ได้ต้มเบียร์เอง แต่ใช้วิธีซื้อเบียร์ Lambic จากโรงอื่นๆ มาเบลนด์ (ปัจจุบันก็ยังมีโรงที่ซื้อเบียร์มาเบลนด์แบบนี้ทั้งในยุโรปและอเมริกา) ผ่านไป 38 ปีจึงได้มีการต้มเองโดยลูกชาย 2 คนของ Paul ชื่อ Robert และ Marcel ซึ่งดันโดนเรียกไปเป็นทหารในช่วงสงครามอีก

กว่าโรงจะกลับมาผลิตอย่างจริงจังก็ราวปี 1950 พอ 1960 เบียร์ lambic ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยม Robert ก็ขายหุ้นให้น้องชาย Marcel สักพักตัว Marcel เองก็เลิกทำต้มเมื่อลูกสาวได้แต่งงานกับ Jean-Pierre Van Roy ซึ่งกลายมาเป็นผู้สืบทอดต่อแทน

ทางโรงเปิดให้คนมาเข้าชมได้ในปี 1978 ซึ่งทำให้โรงเป็นที่รู้จักมากขึ้น แล้วก็ยังได้รายได้จากการเยี่ยมชมเพิ่มขึ้นด้วย พอปี 1986 โรงก็เริ่มส่งเบียร์ขายที่สหรัฐอเมริกา และในปี 1989 Jean ลูกชายของ Jean-Pierre ก็มาเริ่มช่วยงานพ่อ ตั้งแต่ไม่เป็นอะไรเลย

และในปี 2009 Jean-Pierre ก็ต้มเป็นแบทช์สุดท้าย ก่อน Jean คนลูกจะเริ่มดูแลทั้งหมดอย่างเป็นทางการ หลังจากที่เริ่มดูแลโรง Cantillon มา 6 ปี ตั้งแต่ 2003 ความแตกต่างอย่างนึงของ Jean คนลูก ก็คือไม่ได้ต้มเบียร์อย่างดั้งเดิมอย่างเดียว แต่มีการทดลองทำแบทช์เล็กๆ ลองนู่นลองนี่ ลองใส่ผลไม้จากต่างประเทศบ้าง

สำหรับตัวเบียร์นั้นจะเน้นที่ตัว Gueuze คือ Lambic ที่ผสมผสานจากหลายถังหลายปี นอกจากนั้นก็จะเป็น Lambic ที่ใส่ผลไม้ต่างๆ อย่างเช่น Kriek (เชอรี่) , Framboise (ราสเบอรี่) และอีกหลากหลายผลไม้

ตัดภาพกลับมาที่หน้าโรง คณะของเราเดินทางมาถึงประมาณ 9.30 ก่อนที่เค้าจะเปิดให้เข้าครึ่งชั่วโมงครับ อากาศเย็นๆ กำลังสบายไม่หนาวมาก พอใกล้สิบโมงก็เริ่มฝรั่งมาเข้าแถวต่อจากเรา ถึงเวลาประตูเปิดก็ซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมแบบ Walk-in คนละ 7 ยูโร โดยเมื่อจบทัวร์จะได้ชิมเบียร์ 2 ตัว
แต่ถ้าจองมาล่วงหน้าจะมีไกด์ให้ด้วย ตั๋วราคา 9.5 ยูโร หรือถ้าจองแบบเป็นกรุปมา (10 คนขึ้น) จะเหลือคนละ 6 ยูโรครับ

เริ่มทัวร์ก็มีพนักงานมาเล่าประวัติให้ฟังแบบสั้นๆ จากนั้นก็ปล่อยให้เราเดินกันเองครับ สามารถถ่ายรูปถ่ายวิดิโอได้ เราก็แอบเดินตามๆ กรุปใหญ่ที่เค้าจองมา แอบฟังที่ไกด์เล่าบ้าง ฮ่าๆ เริ่มที่ห้องต้ม ผ่านไปเจออ่าง coolship ที่ไว้สำหรับหมักเบียร์แบบเปิดหน้า (spontaneous fermentation) แล้วก็ส่วนของถังโอคที่เอาไว้บ่ม วนกลับลงมาด้านล่างก็จะเป็นไลน์บรรจุขวดที่ยาวเรียงราย และก็มีขวดเรียงนอนอยู่ริมกำแพงจำนวนมหาศาล

จบเรียบร้อยเราก็กลับมารับเบียร์ที่บาร์ด้านหน้า ได้คนละ 2 แก้วครับ พอครบ ชาวคณะก็ลงขัน รวมเงินเพื่อซื้อตัวอื่นๆ มาชิมกัน ชิมไปชิมมารวมได้เจ็ดขวด คือตัวพิเศษๆ เค้าจะไม่ให้เราซื้อกลับ ให้ทานได้ที่โรงอย่างเดียว คือซื้อแล้วจะเปิดขวดเลย ตัวที่ซื้อกลับได้จะเป็นตัวปกติ วันที่ผมไปนั้นมีขายอยู่ 4 ตัว

ด้านหน้าโรงครับ

ประตูทางเข้า ตัวป้ายเขียนไว้ด้วยว่าเป็น Museum ของ เบียร์ Lambic แบบ Gueuze

เวลาเปิดปิดโรง

ป้ายโลโก้คนเมาอันคุ้นตาของทางโรง

เข้ามาด้านในโรงฝั่งซ้ายมือจะเป็นที่นั่งจิบครับ เป็นที่นั่งรอก่อนเข้าชมโรงด้วย

ป้ายโรงแบบโบราณ

ฝั่งขวามือเป็นที่ขายของที่ระลึก

เสื้อยืดลายต่างๆ

ลังไม้เรียงรายริมกำแพงโรง ระหว่างทางเดินเข้าไปเพื่อเริ่มทัวร์ครับ

ที่ชั้นล่างเป็นเครื่องมือต่างๆ อันนี้น่าจะเป็น Mash tun ครับ (หม้อสำหรับแช่มอลต์ก่อนต้ม)

 

ที่บดมอลต์

อันนี้น่าจะเป็นหม้อน้ำร้อน

ขึ้นมาที่ชั้นบนครับ เป็นห้องใต้หลังคา

ถังบาร์เรลที่สำหรับบ่มเบียร์

โซนต้มด้านบน

หม้อต้มครับ

coolship หรืออ่างกว้างสำหรับการหมักแบบ spontaneous fermentation ที่ใช้ยีสต์ธรรมชาติ

 

ผ่านโซนถังบาร์เรล

สุดทางเป็นโซนบรรจุ keg เบียร์สด

ระบบกรองเบียร์

KeyKeg เรียงกันเพียบๆ

เวลากรอกก็กลับหัวแบบนี้ครับ

 

วนลงบันไดกลับมาที่ชั้นหนึ่ง ผ่านโซนทำความสะอาดถังบาร์เรลครับ

 

วนมาที่ห้องติดกันโซนนั่งดื่ม เป็นโซนบรรจุขวดครับ

ขวดแน่นยาวเรียงเต็มกำแพง เยอะมากๆ

ไลน์การบรรจุขวด

จบทัวร์ก็มาที่บาร์ด้านหน้าโรงฝั่งซ้ายมือเพื่อรับเบียร์ครับ

ขวดเรียงรายหลายฉลาก

เริ่มที่ Young Lambic รินเสิร์ฟจากเหยือก

อายุประมาณ 1 ปีครึ่ง ค่อนข้างดราย มีรสหวานนิดๆ บอดี้หนา แต่ยังแฟลตไม่มีความซ่าครับ จิบๆไป มีรสมดบางๆ

ส่วนแก้วที่สองเป็น Gueuze คือเบลนด์แล้ว ตัวนี้ออกรสหวานนิดๆ ฟังกี้ มีฟองแล้ว แต่ก็ไม่ซ่าอยู่ดี กลมกล่อมครับ

ราคา

ราคา

เริ่มการแชร์ด้วย Vigneronne เป็นแลมบิคที่ผสมองุ่นจากอิตาลี่ครับ มีรสองุ่นนิดๆ ออกหวาน ค่อนข้างซ่า ดราย จบเปรี้ยวๆ

ตามด้วยอีกหนึ่งตัวดังของโรง Fou’ Foune เป็น Lambic อายุปีครึ่งถึงสองปีผสมกับ Bergeron apricot ออกเปรี้ยว หวาน ซ่า กลิ่นแบบสโตนฟรุต

Mamouche เป็น Lambic ที่ผสมกับ elderflower ครับ กลิ่นเหมือนพริกหยวก รสหวาน ดราย จิบไปนึกพวกไวน์ขาว มีสไปซ์บางๆ ขมนิด อร่อย ชอบครับตัวนี้

Lou Pepe Kriek รสหวาน รสเชอรี่ชัด ค่อนข้างซ่า ท้ายๆมีฝาดและขม

 

50 Degrees N – 4 Degrees E เป็น Lambic ที่เอาไปบ่มนาน 2 ปีในถังเหล้าคอญญัคครับ ส่วนชื่อมาจาก ตำแหน่งที่ตั้งของโรง Cantillon รสหวานนำ ออกฟังกี้ รสไม้ๆ มีเผ็ดนิด กลิ่นชื้นๆ

ปิดท้ายด้วย Tyrnilambic Baie d’Argousier เป็น Lambic ที่ใส่ลูก Sea-buckthorn ลงไป กลิ่นฟังกี้มากๆ แบบบลูชีสเลย อับชื้น แต่พอจิบกลับรู้สึกว่าบอดี้บาง ซ่า ออกเปรี้ยว กลิ่นกับรสคนละทางกัน รู้สึกอยากกินกับชีสครับ

รวม 7 ขวดที่จัดกันในเช้าวันนี้ครับ

หมด 7 ขวดก็เมากันใช้ได้เลยครับ เสียดายไม่ได้เตรียมกับแกล้มไป เพราะทางโรงมีแต่เบียร์ ถ้าจะไปแนะนำว่าอาจจะแอบเอาพวกชีส ไส้กรอก พาเต้ไปนั่งกินแกล้มด้วยจะเด็ดมากครับ

เป็นอีกหนึ่งโรงทรี่ประทับใจ แม้ว่าพนักงานหลายๆ คนจะดูกวนๆ หยิ่งๆ แต่เบียร์เค้าดีจริงๆ ครับ ถ้ามีโอกาสมา Brussels เป็นโรงที่แนะนำว่าควรแวะมาเที่ยวอย่างยิ่ง นั่ง uber จากใจกลางเมืองไม่กี่ยูโร คุ้มค่ามากๆ ครับ

You Might Also Like


แสดงความคิดเห็น



WP Twitter Auto Publish Powered By : XYZScripts.com