จากโรง De Dochter van de Korenaar เราเดินทางขึ้นเหนือจากฝั่งเบลเยี่ยมกลับเข้ามาในเนเธอร์แลนด์ ประมาณ 28 กิโลเมตร ก็มาถึงเมือง Tilburg ที่ตั้งของโรงเบียร์แห่งที่สองในวันนี้ ในคือ Koningshoeven หรือที่เราคุ้นชื่อแบรนด์ La Trappe นั่นเอง
พอมาถึงก็ไปรับประทานอาหารเที่ยงกันที่ Tasting Hall กันครับ มื้อนี้เป็น Open Sandwich แบบบุฟเฟต์ ใครอยากทานอะไรก็เดินไปตัก ระหว่างมื้อก็จะมีเบียร์ La Trappe ตัวต่างๆ ให้สั่งด้วย
พอทานข้าวเสร็จกันเรียบร้อยก็มารวมกัน แล้วก็เข้าไปชม video ประวัติความเป็นมาต่างๆ ของโรง ก่อนจะไปเดินทัวร์ในส่วนของโรงเบียร์ครับ โดยมีเจ้าหน้าที่พาเราชมส่วนต่างๆ ซึ่งมีข้อห้ามนิดนึงคือห้ามถ่ายวิดิโอ
สำหรับประวัติของวัดนั้น ย้อนกลับไปได้ถึงปี 1881 เมื่อคณะบาทหลวงฝรั่งเศสนิกาย Trappist ได้มาตั้งรกรากที่โรงนาและโรงเลี้ยงแกะในเมือง Berkel-Enschot ส่วนหนึ่งของจังหวัด Brabant โรงนาแห่งนี้มีชื่อว่า Koningshoeven แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า โรงนาของพระราชาในภาษาดัทช์ ตามชื่อเจ้าของเดิมคือ King Willem ที่ 2
วันที่ 5 มีนาคม ปี 1881 ก็เป็นครั้งแรกที่จัดงาน Holy Mass ในโรงเลี้ยงแกะ และนับเป็นหมุดหมายแรกอย่างเป็นทางการของวัดแห่งนี้
ส่วนการต้มเบียร์ในวัดเริ่มต้นขึ้นในปี 1884 เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ ของทางวัด แม้จะเป็นการหารายได้เข้าวัดแต่ตัวโรงก็ดำเนินกิจการในรูปแบบการค้าอย่างจริงจัง
ผ่านไป 7 ปีก็มีการสร้างโรงต้มใหม่ขึ้นในปี 1891 รวมถึง Malt Tower ซึ่งยังอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ พอเริ่มขายเบียร์ก็เริ่มมีกำไร ทางวัดก็นำเงินนำเงินส่วนนี้ไปสร้างโบสถ์ใหม่ในปี 1894
ทางวัดต้มเบียร์สไตล์ลาเกอร์แล้วก็ขายในบาร์ของตัวเองสามสี่แห่งในบริเวณไม่ไกลจากวัด นอกจากนั้นก็ยังรับผลิตเบียร์แบบ Private Label ให้กับคนอื่นๆ ด้วย พอปี 1969 ทางวัดก็ให้สิทธิ์ดูแลขั้นตอนในผลิตเบียร์แก่ Artois Brewery (ปัจจุบันคือ InBev)
ข้อตกลงกับ Artois จบลงในปี 1980 เหล่าบาทหลวงก็กลับมาต้มเบียร์ด้วยตัวเอง เป็นจุดเริ่มของแบรนด์ La Trappe โดยคราวนี้เปลี่ยนสไตล์เบียร์ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เริ่มด้วย Dubbel และ Tripel ในปี 1987 ส่วน Blond เริ่มต้มในปี 1992 นอกจากนี้ทางโรงเป็น Trappist โรงเดียวที่ต้ม Witbier ด้วย (วางตลาดในปี 2003) สำหรับการส่งออกนั้นทางโรงเริ่มส่งออกไปขายยังประเทศต่างๆ ในปี 1985
ระหว่างปี 1980 ถึง 1999 นั้น ตัวโรงดำเนินการกิจการด้วยบาทหลวงเป็นหลัก จนหลวงพ่อเริ่มแก่ จนเริ่มทำงานไม่สะดวก ก็เลยมีการจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาโดยเป็นบริษัทในเครือของ Bavaria นั่นเองครับ
โดยบริษัทใหม่นี้ก็จะเช่าตึกและอุปกรณ์ต่างๆ จากวัด แล้วก็ทำงานต้ม งานบรรจุ ต่างๆ แทนที่บาทหลวง ซึ่งก็เลยเป็นประเด็นขึ้นมา มีการไปแจ้งกับ International Trappist Association ว่าทำแบบนี้ไม่ถูกกฎของเบียร์ Trappist สุดท้ายก็เลยต้องเอาโลโก้ Authentic Trappist Product ออกจากฉลากเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 1999 แต่ยังเขียนว่า Trappistenbier เอาไว้
หลังจากนั้นก็มีการศึกษาและปรับปรุงข้อตกลงต่างๆ อยู่นานจนในที่สุดทางโรงก็กลับมาติดโลโก้ Authentic Trappist Product ได้อีกครั้งในวันที่ 9 กันยายน 2005 โดยบาทหลวงจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมงานประจำวันต่างๆ ของโรงเบียร์มากขึ้น
เนื่องจากมีลูกค้ามาเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกปีตั้งแต่ 1984 ในปี 2008 ก็เลยมีการสร้าง Tasting Hall ขึ้นมาใหม่ โดยดีไซน์ก็มีหน้าตาเหมือนกับโรงเลี้ยงแกะ ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นของวัดแห่งนี้นี่เอง
กลับมาที่หน้าห้องต้มเจ้าหน้าที่ก็พาเราเดินเข้าไปยังห้องต้มดั้งเดิมของโรง เป็นหม้อทองเหลืองขนาดใหญ่ แล้วก็ให้เราชมวัตถุดิบอย่าง มอลต์และฮอปส์ เสร็จก็เดินต่อมายังอีกห้อง เป็นหม้อต้มอันใหม่ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เป็นหม้อสแตนเลสครับ
จากนั้นก็วนออกมาดูส่วนที่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของวัดอย่างชีส และโรงอบขนมปังโบราณ ต่อด้วยโซนบรรจุเบียร์ ทั้งเบียร์ขวดและเบียร์สดที่บรรจุลงเคกครับ
สุดท้ายก็เป็นห้องเก็บบาร์เรลซึ่งบรรจุเบียร์แบทช์พิเศษแบบจำกัดจำนวนเอาไว้ครับ ภายในห้องเปิดแอร์ควบคุมอุณหภูมิตลอดเวลา โดยแต่ละปีก็จะเลือกมาไว้จะออกจำหน่ายตัวไหน
ตามแผนทีแรกหลังจากจบทัวร์คณะของเราก็จะไปแวะร้านขายของที่ระลึกของโรง แต่วันนี้เจ้าหน้าที่ที่ดูและ ป่วย ไม่ได้มา เราก็เลยอดซื้อเบียร์และของฝากอื่นๆ ติดมือกลับบ้าน
หากสนใจจะแวะมาชิมเบียร์ที่ Tasting Room แนะนำให้มาวันอังคาร พฤหัสบดี ศุกร์ หรือเสาร์ครับ เพราะช่วงเที่ยงจะมีทัวร์ซึ่งบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ มาทัวร์ก่อน จบทัวร์ค่อยทานอาหารก็ได้ครับ
La Trappe – Bierbrouwerij de Koningshoeven Berkel-Enschot
เบอร์ : +31 (0)13 535 81 47
เปิด : เมษายน-ตุลาคม จันทร์-เสาร์ 11.00-19.00 อาทิตย์ 12.00-19.00 พฤศจิกายน-มีนาคม จันทร์-เสาร์ 11.00-18.00 อาทิตย์ 12.00-18.00
เว็บไซต์
foursquare